การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกิจการที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยบริบทของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้เดินทางไปท่องเที่ยว ได้แก่ การได้เรียนรู้ด้านภาษา เรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เรียนรู้โลกปัจจุบัน เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะทำและพบกับสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งได้รู้จักตัวเองมากขึ้นหรือได้คิดนอกกรอบ เป็นต้น รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางไปยังสถานที่หรือประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทย ใน 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม – กรกฎาคม 2566) ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติรวมกัน 1,084,575 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 638,161 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 30 กรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 15,322,175 คน เพิ่มขึ้น 384% เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนของปี 2565
สำหรับ 5 อันดับแรกของประเทศต้นทางที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย 2,439,710 คน จีน 1,839,660 คน เกาหลีใต้ 907,463 คน อินเดีย 885,772 คน และรัสเซีย 854,946 คน
จากข้อมูลดังกล่าว ในฐานะที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีวิสัยทัศน์มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่ม โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการ คือ 1) เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัย 2) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น และ 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีอัตลักษณ์
โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่
1) ด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัย มาใช้ในการขับเคลื่อน เช่น การใช้กล้าพันธุ์ปลอดโรค การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การฆ่าเชื้อก่อโรคในดินด้วยการอบไอน้ำ และการใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืช
2) ด้านสังคม มุ่งใช้ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีอยู่เดิมมาต่อยอด เช่น การพัฒนาของที่ระลึกจากดอกไม้ชุมชน การพัฒนาเครื่องดื่มจากดอกไม้ชุมชน โดยมีผู้สูงอายุในชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน
3) ด้านเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 20
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งพัฒนาไม้ดอกเพื่อการท่องเที่ยวด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านไม้ดอกในพื้นที่จากการนำเทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าปลอดโรคด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตไม้ดอกปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งการถ่ายทอดผลงานวิจัยเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ของ วว. และ วช. ให้แก่กลุ่มเกษตรของไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยะลา อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องในการนำต้นแบบจาก “I Love Flower Farm” ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งยกระดับไม้ตัดดอกภายในประเทศ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ผสมผสานการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของคนในชุมชนและเป็นชุมชนอุดมสุข รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจและสำนึกรักในวิถีชีวิตชุมชน พัฒนาการบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบและมีธรรมาภิบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายกับภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
โดย วว. และ วช. นำมาเป็น (soft power) ในการพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างระบบนิเวศทางการเกษตรที่เข้มแข็งและยั่งยืนในชุมชน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
วว. จะนำต้นแบบดังกล่าวขยายผลในพื้นที่เครือข่ายวิจัยในจังหวัดอุบลราชธานี ยะลา นครราชสีมา และพื้นที่อื่นๆของไทย เพื่อหนุนนโยบายของรัฐบาลและนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำ soft power ผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เบญจมาศพันธุ์ใหม่/กล้าพันธุ์ปลอดโรค การส่งเสริมการผลิตไม้ดอกภายใต้ระบบเกษตรปลอดภัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การหาจุลินทรีย์ในการควบคุมโรค การหาคุณค่าทางโภชนาการ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการผลิตเบญจมาศนอกฤดู การยืดอายุไม้ตัดดอกเพื่อการขนส่งระยะไกลเพื่อให้ได้คุณภาพ (วิทยาการก่อน-หลังการเก็บเกี่ยว) การส่งเสริมการผลิตไม้ดอกชนิดใหม่ๆ ในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและตัดดอก การพัฒนาของที่ระลึกจากอัตลักษณ์ชุมชน การส่งเสริมการผลิตผักน้ำแบบปลอดภัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การตรวจลักษณะทางพันธุกรรมในพื้นที่ การพัฒนาระบบการให้ธาตุอาหาร การแก้ไขปัญหาความขุ่นของน้ำที่ส่งผลต่อการผลิต และการส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรค เป็นต้น
นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการจะขับเคลื่อนด้วย “โมเดล 5 Love” ได้แก่
LOVE ECONOMIC EMPOWERMENT เพื่อพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่ให้มีคุณภาพมากขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น สวนเกษตร ที่พัก ร้านอาหาร องค์กรส่วนภาครัฐและเอกชน ในหน่วยงานที่จัดกิจกรรมเสริมส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ กีฬา ดนตรี การแสดง ศิลปะ ฯลฯ
LOVE CULTURE เพื่อส่งเสริมภาคประชาคมในพื้นที่ ให้ก่อเกิดวิถีชุมชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีภาคการท่องเที่ยวสวนเกษตร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้นแบบ
LOVE ACTIVITIES เพิ่มกิจกรรมในการดึงเวลานักท่องเที่ยงให้มีเวลาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มเวลาในการใช้จ่ายในภาคส่วนอื่นๆ สร้างเสริมรายได้มากขึ้น ตามเวลาที่นักท่องเที่ยวใช้ในพื้นที่ เช่น การเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพมือถืออย่างง่ายจากช่างภาพมืออาชีพ งานศิลปะดอกไม้
LOVE INSPIRATION เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมภาคประชาคมและสามารถสร้างเป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสู่อาชีพที่ยั่งยืนต่อไป
LOVE ENVIRONMENT เพื่ออนุรักษ์และสร้างเสริมวิถีชุมชนของประชาคมดั้งเดิมสืบเนื่องต่อไป ยั่งยืนไม่ให้สูญหาย ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชน (จิมส์ ทอมสัน โมเดล)
วว. และ วช. มุ่งมั่นให้ โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นโมเดลขับเคลื่อนการดำเนินงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย…เข้มแข็ง มีมาตรฐาน มีความมั่นคง มั่งคั่ง ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว.
#https://learn-life.com/