ทีมรังสิตสามัคคี คว้ารางวัล The Best of The Best ประจำปี’66

 

นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต โชว์ไอเดียผลิตเส้นพาสต้าจากกากถั่วแระญี่ปุ่น ต่อยอดภาชนะชีวภาพ ตอบโจทย์กระบวนการผลิตอาหารแบบ Zero Waste คว้ารางวัล The Best of The Best ระดับประเทศ ประจำปี 2566 จากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น จัดโดยธนาคารออมสิน

นางสาวจริยาวดี ลือหาร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีอาหาร ตัวแทนทีม รังสิตสามัคคี กล่าวว่า โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่สำนักงานบ่มเพาะธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญหา มหาวิทยาลัยรังสิต ส่งเสริมให้นักศึกษาและอาจารย์คณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต นำความรู้ความสามารถศาสตร์ทางด้านต่างๆ ลงพื้นที่บริการวิชาการแก่วิสหกิจชุมชนในพื้นตั้งของมหาวิทยาลัย คือ จังหวัดปทุมธานี เป็นประจำทุกปี โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในปีนี้กลุ่มเราทีมรังสิตสามัคคีได้เข้าไปให้คำปรึกษากับวิสาหกิจชุมชนอาหารจากพืชปลอดภัย ต.ลำไทร อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวมุสลิม ประกอบอาชีพปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ผลิตเป็นนมถั่วแระญี่ปุ่นจำหน่ายในชุมชน พวกเราเข้าไปช่วยปรับปรุงและแนะนำเรื่องกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บให้นานขึ้น สอนการทำแผนธุรกิจ อบรมการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง และผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จดทะเบียน อย. เพื่อให้ได้มาตรฐานและสามารถจำหน่ายได้ในวงกว้างขึ้น เป็นต้น

หลังจากที่เราลงชุมชนเห็นว่าจะมีกากถั่วแระเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะนำไปเลี้ยงปลา ซึ่งเลี้ยงในปริมาณมากเกินไปส่งผลให้น้ำในบ่อปลาเน่าเสีย จึงมีแนวคิดที่จะนำกากถั่วแระมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือเป็นขยะให้น้อยที่สุด โดยเริ่มจากการนำกากถั่วแระมาอบแห้งไว้ก่อน แล้วจึงนำมาแปรรูป เราคิดว่าคนไทยชอบรับประทานอาหารเส้น จึงเกิดไอเดียการทำเส้นพาสต้าจากกากถั่วแระญี่ปุ่น เส้นพาสต้าของเราพิเศษตรงที่มีโปรตีน ใยอาหาร ของกากถั่วแระหลงเหลืออยู่ จึงตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพเพราะมีปริมาณโปรตีนที่เพียงพอ และผ่านคุณภาพได้มาตรฐาน Water Activity สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้นานประมาณ 1 ปี โดยไม่ใส่สารกันเสีย

จากกระบวนการผลิตเส้นพาสต้ายังมีเศษเส้นพาสต้าเหลือทิ้งอีกจำนวนหนึ่ง จึงปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ ว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงทดลองนำมาทำภาชนะจากพาสติกชีวภาพ โดยนำเส้นพาสต้าไปตากแห้ง บด และนำไปเข้ากระบวนการผลิตและขึ้นรูปเป็นภาชนะพาสติกย่อยสลายได้ โดยผ่านการทดลองว่าหลังจากใช้ภาชนะแล้วสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลา 6 เดือน ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

ทีมของพวกเราจะประกอบด้วยเพื่อนๆ จากคณะเทคโนโลยีอาหาร คณะบัญชี และวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี จำนวน 19 คน ซึ่งแต่ละคนก็แบ่งกันทำหน้าที่ตามความถนัดจากที่ได้เรียนมา ปีนี้มีทีมจากมหาวิทยาลัยรังสิตลงชุมชนทั้งหมด 5 ทีม ซึ่งหลังจากที่แต่ละทีมลงพื้นที่ชุมชนแล้ว ต่างก็นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับมอบหมายมาต่อยอดและประกวดกันเองภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทีมรังสิตสามัคคีของพวกเรา ได้รับรางวัล The Best ระดับมหาวิทยาลัย ได้เป็นตัวแทนร่วมการแข่งขันระดับประเทศ โดยทางออมสินจะให้เราไปส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรม Work Shop 3 วัน 2 คืน ที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ กิจกรรมภายในงานจะ

เป็นการซ้อมคิวพิธีการ ซ้อมพรีเซนต์ จัดบู้ทแสดงผลงาน และร่วมกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัยที่ผ่านเข้ารอบระดัลมหาวิทยาลัยทั้งหมด 12 ทีม

โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น แบ่งประเภทการประกวดเป็น 6 ประเภท ได้แก่ กินดี อยู่ดี สวยดี ใช้ดี รักษ์ดี คิดดี ซึ่งทีมของเราได้รับรางวัล The Best of The Best ประเภท คิดดี ได้รับรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล โดยมีสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่งเข้าร่วมโครงการ ลงพื้นที่สร้างความร่มมือในการพัฒนากลุ่มชุมชน 345 กลุ่ม ทั่วประเทศ

“สิ่งที่เราได้รับจากโครงการนี้ คือ ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับระหว่างเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยกับชุมชน การนำได้วิชาความรู้ที่เราเรียนมาไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ได้รู้จักเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน ได้ฝึกวิธีคิด การวางแผนการทำงาน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเราวางแผนและได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการให้ต่อยอดผลงานนี้และส่งเข้าประกวดเวทีอื่นๆ ระดับประเทศต่อไป ยิ่งทำให้เรามีกำลังใจ และรู้สึกภูมิใจมาก ว่าขณะที่เรายังเรียนอยู่เราสามารถนำวิชาความรู้ที่มีมาสร้างมูลค่าให้แก่ชุมชนได้”

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

ผศ.ธฤต อภิสิทธิวงศ์

ดร.ณัฐ เทพหัตถี

ดร.ณัฐพงษ์ ปรีชาพันธ์

สมาชิกทีม รังสิตสามัคคี

1.นางสาวใบเฟิร์น

2.นางสาวจริยาวดี ลือหาร

3.นางสาวอิมตินาน ดอเลาะ

4.นายพนธกร กวาวสอง

5.นางสาวนดา มั่งสมบูรณ์

6.นายปฏิภาณ กลิ่นหอม

7. VISALKORAMY SIN

8.นางสาวรวิพร เปรมสุวรรณศรี

9.นางสาวนันทน์ภัส วิชิต

10.นางสาวปัทมพร บุญญา

11.นายธนดล สุนันธรรม

12.นางสาวจูเลีย ปิตุนกิน

13.นายวชิรวิชญ์ ปิยะพรมดี

14.นางสาวสุเมธินี สุทธาเวศ

15.นายธิปก ลิ่มศิลา

16.นายนฌกร นุชเสม

17.นางสาววัชราภรณ์ เทียนกระจ่าง

18.นายภัทรวิทย์ สุดเฉลียว

19.นางสาวกัลยารัตน์ สระบริบูรณ์

 

 

#https://learn-life.com/

Next Post

พระพรหมวชิราธิบดี ประธานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระมหาธาตุเจดีย์ ศรีมหิธรปุระ จ.บุรีรัมย์

Tue Feb 20 , 2024
  พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต น.ธ.เอก, ป.ธ.๕, พธ.ดง(กิตต์) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร, ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร, นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย […]