เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของการนำเอาศาสตร์และศิลป์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรี ที่สำคัญเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในสังคมระหว่างบุคคล บูรณาการในการเรียนการสอนเป็นสื่อการเรียนรู้ และการนำไปใช้ในการสร้างงานที่เชื่อมโยงกับชุมชน และสังคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประวิทย์ ฤทธิบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พัฒนารูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
ผศ.ประวิทย์ ฤทธิบูล เล่าว่า ทีมวิจัยได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ นำท่ารำของนาฏศิลป์พื้นฐานกับอัตลักษณ์ท่ารำมอญที่เป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ที่มีความเชื่อมโยงทางด้านศิลปวัฒนธรรมกับการดำเนินชีวิตมาสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นศักยภาพการนำศิลปวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือความเจริญทางกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในด้านการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ง่าย
โดยรูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ ประกอบด้วยทั้งหมด 7 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 สูงวัยใสใจสุขภาพ กิจกรรมที่ 2 เรียนรู้การดูแลตัวเอง กิจกรรมที่ 3 ยืดคลายสไตล์รำไทย กิจกรรมที่ 4 นาฏกรรมสร้างสรรค์ บันเทิงปทุม กิจกรรมที่ 5 นาฏกรรมสัมพันธ์ กิจกรรมที่ 6 สูงอายุโชว์พาว และกิจกรรมที่ 7 ปัจฉิมนิเทศ ใช้เวลาในการทำกิจกรรมจำนวน 16 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน มีความสอดคล้องกันและมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หมู่บ้านฟ้ารังสิต ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผลการประเมินระดับความพึงพอใจของของผู้สูงอายุที่มีต่อกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์หลังการเข้าร่วมกิจกรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ เพิ่มเติมว่า รูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยใช้ศาสตร์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรี มาประยุกต์โดยใช้หลักของการเคลื่อนไหวของร่างการในการแสดงออกเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือความเจริญทางกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของสื่อเทคโนโลยีและคู่มือกิจกรรมกิจกรรมการออกกำลังกายที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี สามารถปรับสภาพของตนเองในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังเผยแพร่ในรูปแบบวิชาการ
ผลงานดังกล่าวได้จดลิขสิทธิ์ ประเภทงานนาฏกรรม ชื่อผลงาน บันเทิงปทุม (Ban Terng Pathum) และได้รับรางวัลระดับดีเด่น (ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) การประกวดผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประจำปี 2566 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (RMUTT Research and Innovation Fair for Sustainable Change2023) ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 081-2535439