คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถานีวิทยุกระจายเสียง 89.5 และกองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมห่มผ้าพระประธานในพระอุโบสถ ประจำปี 2567 “ถักร้อย สานศรัทธา ห่มอังสะพระประธาน 7 องค์ 7 วัด จังหวัดปทุมธานี เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา”
พระอรรณพ จัตุวงศ์ วัดมูลจินดาราม เผยว่า ผ้าอังสะ สำหรับพระพุทธรูปพระประธานในอุโบสถ์ ไม่ได้มีลวดลายที่เด่นชัด แต่ด้วยปัจจุบันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีการเรียนการสอนว่าด้วยการออกแบบ มีการออกแบบลวดลายในผ้า โดยผ้าอังสะที่ใช้ห่มพระพุทธรูปไม่ได้อยู่ในเครื่องอัฐบริขาร การออกแบบลวดลายใช้ห่มสไปพระพุทธรูปปกคลุมร่างกาย ไม่ถือเป็นการผิดวินัย กลับเป็นการจูงใจให้นักศึกษาที่ออกแบบลวดลาย รักษาประเพณีการห่มผ้าอังสะพระประธานสืบเนื่องในทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยอานิสงค์ของการถวายผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าอังสะ จีวร สบง หรือเครื่องนุ่งห่มทุกชนิด กับพระสงฆ์ หรือแม้กระทั่งตัวแทนของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปในอุโบสถ์ การถวายผ้าเป็นการให้การปกคลุม คุ้มครองจากความร้อน หนาว จากอากาศแด่พระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา และให้กับพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่เราศรัทธา เมื่อทำแบบนั้นแล้ว อานิสงค์คืนกับตัวเรา ให้มีสิ่งปกคลุมจากความร้อน หนาว เพื่อไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยจากธรรมชาติโรคภัยไข้เจ็บทั้งมวล ขอให้คุณโยมทั้งหลายรักษาประเพณีห่มผ้าพระประธานในพระอุโบสถเอาไว้สืบไป
อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า “ถักร้อย สานศรัทธา ห่มอังสะพระประธาน 7 องค์ 7 วัด จังหวัดปทุมธานี เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา” ออกแบบและจัดทำผ้าอังสะเพื่อนำไปห่มพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถานีวิทยุกระจายเสียง 89.5 และกองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี เพื่อให้คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้ร่วมทำบุญกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พัฒนาแนวคิด และส่งเสริมทักษะความชำนาญของนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรีในการออกแบบ และตัดเย็บผ้าอังสะ พัฒนาความสามารถและประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยการเผยแพร่กิจกรรมผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และพัฒนาให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
ในการดำเนินโครงการเริ่มจากการติดต่อประสานงานและเดินทางสำรวจวัด ในจังหวัดปทุมธานี แบ่งเป็นครั้งที่ 1 เดินทางเพื่อสำรวจเส้นทาง และประสานงานเพื่อให้ได้รายชื่อทั้ง 7 วัด ครั้งที่ 2 เดินทางไปพบเจ้าอาวาสทั้ง 7 วัด พร้อมถ่ายภาพเก็บรายละเอียดเพื่อนำมาออกแบบและจัดทำผ้าอังสะ ครั้งที่ 3 เดินทางไปเก็บรายละเอียดเพื่อนำมาออกแบบและจัดทำผ้าอังสะ เตรียมประชุมวางแผนของทีมงานออกแบบ เพื่อคัดเลือกแบบที่สวยงามและมีความเหมาะสมพร้อมเตรียมการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการตัดเย็บผ้าอังสะ ออกแบบสื่อเผยแพร่ และส่งข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบโครงการ เพื่อรับเงินสมทบทุนตามกำลังศรัทธา และตัดเย็บผ้าอังสะตามแผนที่ได้วางไว้ ลักษณะพิเศษของผ้าอังสะห่มประธานในครั้งนี้ ใช้ผ้าโช่ลอนออกแบบลวดลายเป็นดอกบัว แล้วปักฉลุและปักตกแต่งให้มีความสวยงาม
นางสาวไพริน จันโสดา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสมาทำบุญร่วมถวายผ้าอังสะกับอาจารย์ในครั้งนี้ ซึ่งไม่ค่อยได้มีโอกาสทำบุญแบบนี้ รู้สึกอิ่มใจ เป็นสิ่งดี ๆ ลวดลายดอกบัวที่อยู่ในผ้าอังสะมีความสวยงามและแปลกตา ขอบคุณอาจารย์ที่ได้เชิญชวนมาทำบุญในครั้งนี้
โดยเมื่อปี 2556 โครงการดังกล่าวได้ออกแบบและจัดทำผ้าอังสะจำนวน 9 ผืน นำไปห่มอังสะพระประธาน 9 องค์ 9 วัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ วัดหน้าพระเมรุราชิกายราม วัดพนมยงค์ วัดกุฎีลาย วัดบรมวงศ์อิสรวราวรวิหาร วัดเชิงท่า วัดราชประดิษฐาน วัดศาลาปูนวรวิหาร วัดพรหมนิวาสวรวิหาร และวัดธรรมมิกราช สำหรับปี 2567 ออกแบบและจัดทำผ้าอังสะจำนวน 7 ผืน นำไปห่มอังสะพระประธาน 7 องค์ 7 วัด ในจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) วัดพรหมนิวาสวรวิหาร วัดโปรยฝน วัดจตุพิธวราวาส วัดบึงบา วัดอัยยิการาม และวัดมูลจินดาราม โครงการ “ถักร้อย สานศรัทธา ห่มอังสะพระประธาน” จัดขึ้นต่อเนื่อง สำหรับผู้สนใจร่วมบริจาคทุนทรัพย์หรือเข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม อ.สุระจิตร แก่นพิมพ์ หัวหน้าโครงการ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร. 0926614458
…….
ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน