นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ออกแบบ พัฒนา “ชุดเครื่องประดับ” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ศิลปะการมัดเชือกชิบาริ” และร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปนิพนธ์ ณ หอประชุม มทร.ธัญบุรี
นางสาวรุ่งอรุณ แซ่อึ้ง หรือตั๊ก สาววัย 22 ปี เลือดใหม่ไฟแรง ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เจ้าของผลงาน “ชุดเครื่องประดับ” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะการมัดเชือกชิบาริ ซึ่งไม่ใช่นักออกแบบหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงมือทำงานแต่อย่างใด หลังจากที่เธอชนะเลิศการออกแบบเครื่องประดับ ผลงาน Ups and downs Collection ในโครงการไทยทะยาน จากโจทย์อัญมณีนพเก้า และคว้าเงินรางวัล 50,000 พร้อมโล่เกียรติยศ เธอก็กลายเป็นแฟชั่นนิสต้าสาวที่น่าจับตามองคนหนึ่งของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี
ล่าสุด ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์จัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานศิลปนิพนธ์นี้ ภายใต้แนวคิดหลัก Rebirth Thesis Exhibition ประจำปีการศึกษา 2565 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาผ่านผลงานศิลปนิพนธ์ เพื่อเป็นการแสดงถึงศักยภาพของนักศึกษาภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการแสดงถึงผลสรุปของการศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปนิพนธ์ด้านการออกแบบที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา และนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์หรือเป็นแบบอย่างในการศึกษาต่อไปได้ โดยนางสาวรุ่งอรุณ แซ่อึ้ง หรือตั๊ก ได้นำผลงานศิลปนิพนธ์ของตนเอง ร่วมจัดแสดงด้วย
“ตั๊ก” เล่าถึงโครงการออกแบบและพัฒนาชุดเครื่องประดับจากแรงบันดาลใจศิลปะการมัดเชือกชิบาริ โดยขยายความของศิลปะชิบาริ (Shibari) เป็นศาสตร์และศิลปะการใช้เชือก การมัด การพันธนาการอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ที่มีประวัติและความน่าสนใจมาอย่างยาวนาน หลายคนส่วนใหญ่รู้จักกันในเชิงรสนิยมทางเพศ ทว่าในอีกมิติหนึ่งศิลปะชิบาริมีความสวยงาม มีมุมมองแนวคิดและปรัชญาซ่อนอยู่ และแฝงไปด้วยความหมาย เรื่องราว และวัฒนธรรมที่เกิดการสั่งสม ขณะเดียวกัน ตนเองเคยเข้าร่วมนิทรรศการศิลปะดังกล่าว ได้เรียนรู้ เข้าถึงและเข้าใจเรื่องราวการมัดเชือก ที่มีความหมายกว่าแค่เรื่องทางเพศ ความรุนแรง หรือความเจ็บปวด จึงได้นำมุมมองที่มีต่อศิลปะการมัดเชือกดังกล่าวในเชิงศิลปะ โดยนำวัฎจักรการมัดเชือกเป็นตัวแทนถ่ายทอดมุมมองผ่านเครื่องประดับ
เจ้าของผลงาน ยังกล่าวอีกด้วยว่า ตนได้ถอดคำนามธรรมออกมาในรูปแบบที่สามารถสื่อสารเป็นภาพที่สะท้อนความคิด อารมณ์ ความรู้สึก โดยใช้ “เส้นตรง” – เส้นที่ดูนิ่ง สงบ แต่ซุกซ่อนความต้องการไว้ภายใน แทนความรู้สึกก่อนถูกมัด “รูปทรงอิสระ” – ใช้แทนสัญลักษณ์สื่อถึงการถอดความหมาย ใช้เงื่อนเป็นสิ่งแสดงการถูกมัด การปริของผิวหนัง สะท้อนถึงความแน่น อึดอัดขณะที่กำลังถูกมัด และใช้ “เส้นตรง” อีกครั้งเพื่อแทนความเป็นอิสระ การปลดปล่อย การคลี่คลาย หรือการกลับคืนสู่อิสรภาพของร่างกาย ผิวหนัง และจิตใจ โดยออกแบบและพัฒนาผลงานเป็นชุดเครื่องประดับทั้งกำไล โชคเกอร์ และหวีเสียบผม
“ผลงานดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชิ้นงาน แต่คือเรื่องราว คือประสบการณ์การได้เข้าไปรู้จักกับชิบาริอย่างลึกซึ้ง ที่ทำให้ได้เห็นมุมมอง วิธีคิด การเปิดรับสิ่งใหม่อีกด้วย ตลอดระยะที่สร้างสรรค์ผลงาน ได้เผชิญอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งการทุ่มเทเวลา แรงกดดัน การพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ คณะกรรมการ และขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนต่อการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะสร้างต่อไปอีก” เจ้าของผลงาน สรุปทิ้งท้าย และสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรีได้ที่เว็บไซต์ https://www.fa.rmutt.ac.th