โลกขับเคลื่อนด้วยสตาร์ทอัพและไอเดียธุรกิจใหม่ๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Pitching ไอเดียธุรกิจในหลักสูตร ‘กลยุทธ์การออกแบบ เพื่อปลุกธุรกิจรีเทลและ SME หลังโควิด โดยการใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)’ รุ่นที่ 1 แบบ Non-Degree ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และมอบทุน 100,000 บาท แก่ทีมเอสเอ็มอีผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Pitching ด้วยผลงานไอเดียธุรกิจแหวกแนว ‘Travel & School Sharing’
ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย หลักสูตร ‘กลยุทธ์การออกแบบ เพื่อปลุกธุรกิจรีเทลและ SME หลังโควิด โดยการใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)’ รุ่นที่ 1 แบบ Non-Degree นี้มุ่งติดอาวุธและยกระดับ SME ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่นด้วยทักษะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาหลังสถานการณ์ โควิด-19 ให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ สจล.ในแต่ละด้าน เจาะลึกให้ความรู้ความเข้าใจในหัวข้อ 5 โมดูล (Module) หลัก ได้แก่ 1. พื้นฐานงานออกแบบ 2. กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) 3. การเรียนรู้แนวคิดการออกแบบกับการสร้างกลยุทธ์ในการออกแบบหลังโควิด 4. นวัตกรรมกับการออกแบบเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) และ 5. ปฏิบัติการการสร้างแนวคิดการออกแบบ เพื่อหากลยุทธ์ในเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) เพื่อมุ่งพัฒนาความสามารถ (Competence) หรือ สมรรถนะ (Competency) และหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ขั้นสุดท้าย (The END)” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถ ‘ลงมือทำ’ และ ‘คิดออกแบบ’ หรือ มีความคิดสร้างสรรค์ มีช่องทางสร้างกลยุทธ์ออกแบบ ด้าน Universal design แก้ปัญหาให้กับธุรกิจรีเทลและ SME ที่เกี่ยวข้องได้
จำนวนเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และผู้สนใจจากหลากหลายอาชีพกว่า 50 ราย สมัครเข้าร่วมหลักสูตร ‘กลยุทธ์การออกแบบ เพื่อปลุกธุรกิจรีเทลและ SME หลังโควิด โดยการใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)’ ผ่านการฝึกฝนทักษะออกแบบ ลับคมไอเดีย เติมองค์ความรู้ และการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของ สจล. จากนั้นแต่ละทีมได้ระดมสมอง ออกแบบสร้างไอเดียธุรกิจ มานำเสนอ Pitching ต่อคณะกรรมการในเวลาที่กำหนด 5 นาที ปรากฏว่าผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Pitching การนำเสนอไอเดียธุรกิจ คือ ‘Travel & School Sharing’ ของคุณโรจนัย พันธุ์พฤกษ์ ซึ่งคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. ได้มอบทุนเป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไป
คุณโรจนัย พันธุ์พฤกษ์ เอสเอ็มอีผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Pitching เปิดเผยว่า ที่มาของไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล ‘Travel & School Sharing’ มาจากปัญหาความ ‘เท่ากันแต่ไม่เท่าเทียม’ ของงบประมาณการศึกษารายหัวระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้นักเรียนขาดคุณภาพทางการศึกษา การซ่อมแซม และขาดแคลนครู ทีมจึงสร้างสรรค์แนวคิดนำโรงเรียนมาทำที่พัก ‘Schooltel’ หลายโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลมีบรรยากาศสวยงาม และสถานที่ท่องเที่ยวแปลกตา อีกทั้งโรงเรียนมีพื้นที่ว่างนอกเวลาเรียนไม่ได้ใช้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวเชิงอาสา ประหยัดค่าใช้จ่ายและผู้ที่เป็นจิตอาสา ซึ่งจะช่วยเพิ่มบุคลากรทางการศึกษา โดยทีมออกแบบเว็บไซต์รับสมัคร ‘ครูอาสา’ เพื่อแลกกับการได้รับสิทธิ์พักฟรี หรือจ่ายค่าที่พักในราคาถูกลง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและเงินสนับสนุนแก่โรงเรียนที่ขาดงบประมาณทั้งในระยะสั้นและเร่งด่วน ทำให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ระยะยาวและอย่างยั่งยืน
จากความสำเร็จนี้ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล.วางแผนที่จะเปิดหลักสูตร รุ่นต่อไป ในช่วงต้นปี 2567 เพื่อต่อยอดหลักสูตรแก่กลุ่มเป้าหมายใหม่และกลุ่มเป้าหมายเดิม ขับเคลื่อนยกระดับศักยภาพของคนไทยและ SME ในบริบทโลก
#https://learn-life.com/