วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม CA429 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการบูรณาการบริการวิชาการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมและมุ่งผลสัมฤทธิ์ พร้อมด้วย พลเอก พหล สง่าเนตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง จังหวัดแพร่ โดย นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรมป่าไม้ นายบรรณารักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ดร.สุประวีณ์ อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยุบริการจังหวัดแพร่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการฯ และเข้าร่วมผ่านทางระบบออนไลน์ ได้แก่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหาร นายประทีป บินชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ และนายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแพร่
สำหรับการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” เพิ่มอีกหนึ่งฉบับโดยเป็นการลงนาม 7 ฝ่าย คือ กรมป่าไม้ จังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ เทศบาลเมืองแพร่ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมีขอบเขตการดำเนินงานของ สวทช. ภายใต้การร่วมกันจัดหาทรัพยากรในการดำเนินงาน และ/หรือ การสนับสนุนจากหน่วยงาน 7 ฝ่าย ดังนี้ 1.พัฒนาและยกระดับทักษะ (re-skill/up-skill) ในการบริหารจัดการป่าชุมชนให้กับกรรมการป่าชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง 2.ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ชุมชน 3.ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ 4.สนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้และให้คำปรึกษาในการสร้างมูลค่าจากการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากสิ่งแวดล้อม (คาร์บอนเครดิต) รวมถึงการลดการสร้างมลพิษจากการเผาป่าและวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตร
.
ทั้งนี้ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มอบเกียรติบัตรให้กับผู้บริหารของหน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อไป